Wednesday, March 21, 2007

สวม 10 วิญญาณเพื่องานออกแบบ (จบ)

ก็มาถึงตอนสุดท้ายแล้วนะครับ สำหรับ "สวม 10 วิญญาณเพื่องานออกแบบ" ซึ่งจะเป็นเรื่องลักษณะของผู้ปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา 2 กลุ่มของลักษณะ จะเป็นวิญญาณของนักคิด การกำกับและวางแผน แต่อีก 4 วิญญาณที่เหลือนั้น Tom Kelly ได้นำเสนอลักษณะของนักปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า

3 The Building Personas หรือ”นักก่อสร้าง”

ที่ลงมือเพื่อให้นวัตกรรมนั้น เกิดเป็นจริงได้ ใช้ข้อมูลจากที่”นักเรียน”ได้แสวงหามา และปฏิบัติตามแผนการณ์ที่”นักจัดการ”ได้วางไว้ ซึ่งรายละเอียดของวิญญาณที่มีในกลุ่มลักษณะนี้ ได้แก่

The Experience Architect สถาปนิกผู้คร่ำหวอด

คือวิญญาณของผู้ที่ดึงเอาประสบการณ์ส่วนตัวออกมาใช้ช่วยเหลือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม หรือที่เราๆจะเรียกว่า"ความเก๋า" นั่นเอง คนกลุ่มนี้สร้างความแตกต่างในการทำงานได้ สามารถพลิกสถาณการณ์ที่ดูตีบตัน ให้มีทางออกได้อย่างคาดไม่ถึง และที่สำคัญคือสามารถใช้โอกาสหรือเวลาที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้งานบรรลุผลสำเร็จได้

The Set Designer นักออกแบบฉาก

เป็นคนที่จะวางแผนกรอบการทำงานวันต่อวันอย่างสร้างสรรค์ เหมือนนักออกแบบฉาก ที่สร้างพื้นที่ให้นักแสดงได้วาดลวดลาย แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามโอกาสหรือปัญหาต่างๆที่เข้ามา แต่ก็รักษาแผนและภาพรวมของงานไม่ให้ผิดเพี้ยนไป

The Storyteller นักเล่านิทาน

ไม่ได้เป็นคนเล่าเรื่องเลื่อนลอยแต่อย่างใด แต่เป็นผู้คอยเก็บเอาแนวคิดและความสร้างสรรค์ที่พรั่งพรูออกมาของทีมงาน รวบรวมและเรียบเรียงให้ได้ใจความ ไม่ว่าจะใช้สื่อใดๆ ทั้งข้อความ ภาพ หนัง animation ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจของคนทั้งหลายให้ตรงกัน และทำให้งานก้าวหน้าต่อไปได้

The Caregiver ผู้ดูแล

คือการเข้าใจและใจความต้องการของลูกค้า เป็นผู้ที่ประสานงานที่เชื่อมโยงความต้องการจากลูกค้ามาสู่ทีมงาน และในขณะเดียวกัน ก็สามารถส่งผ่านแนวคิดและกระบวนการสร้างนวัตกรรมไปสู่ลูกค้า สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่าย ซึ่งนับได้ว่าการเป็น"ผู้ดูแล"นั้น ถือว่าเป็นงานวิญญาณที่สำคัญมากตลอดการสร้างนวัตกรรมนั้น

ทั้ง 10 วิญญาณที่ได้เล่ามานั้น ไม่ได้แปลว่าคุณต้องเป็นทุกอย่าง หรือคุณจะมีลักษณะได้แค่อย่างเดียว เราสามารถสวมวิญญาณได้หลายอย่าง แต่การรวบรวมวิญญาณทั้ง 10นั้น ได้แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานเป็นทีม เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีกว่า ให้มุมมองที่กว้างกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมหรือรวมถึงการทำงานต่างๆทั้งหลาย....

ไม่ทราบว่าแต่ละท่านคิดอย่างไรบ้าง แสดงความคิดเห็นหรือcomment มานะครับ ผมจะหาเรื่องดีๆมาฝากอีกเรื่อยๆ โปรดติดตาม

No comments: