Friday, March 23, 2007

ALCOHOL KNOWLEDGE (1)

เครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์
มารู้เรื่องราวของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ้างนะครับ ไม่ได้ว่าจะมาชักชวนให้เมามายกัน แต่เอาเป็นว่าเป็นความรู้อย่สงหนึ่งล่ะกัน โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองชอบดื่มเหล้าหลายๆประเภท เพราะอยากลอง อยากรู้รสชาติของเครื่องดื่มต่างๆกัน เปรียบเสมือนการเดินทางท่องเที่ยวไปยังวัฒนธรรมที่ต่างๆกัน สถานที่ที่ต่างๆไป เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ ถือเป็นผลจากความสามารถสร้างสรรค์ของมนุษยชาติอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนวัตถุดิบตามธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นต่างๆ มาเป็นเครื่องดื่มที่สร้างความรื่นรมย์ให้แก่สังคม เมื่อเกรินมาคร่าวๆแล้ว ก็ขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยนะครับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ตามที่ค้นข้อมูลมา ผู้รู้เขาแบ่งประเถทหลักเป็น 2 ประเภท คือ
1. เมรัย หรือสุราแช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดจากการหมักบ่ม (Fermented)
2. สุรากลั่น คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มากจากการกลั่น (Distilled)

เมรัย หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดจากการหมัก (Fermented) ก็คือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักเป็นสำคัญ เกิดจากกระบวนการของการเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้จากแป้ง หรือผลไม้ชนิดต่างๆ หมักจนได้เป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งประเภทของเครื่องดื่มในกลุ่มนี้ สามารถแบ่งเป็น2กลุ่มใหญ่ได้แก่ เบียร์ (Beer) และไวน์ (Wine)

เบียร์
เบียร์ จัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เรียกว่า สุราแช่ หมายถึง มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมโดยที่แอลกอฮอล์นั้นได้มาจากการหมักบ่ม มิใช่โดยการกลั่น เบียร์ต่างจากไวน์ตรงที่การหมัก เบียร์เกิดจากการหมักน้ำตาลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงแป้งของเมล็ดธัญพืช หรือธัญชาติประเภทข้าวมอลต์ เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับไวน์ และเหล้าวิสกี้ หรือบรั่นดี ประเภทของเบียร์นั้น ผู้รู้เขาจะแบ่งหลักๆตามประเภทของยีสต์ที่ใช้ในการหมักนะครับ โดยจะแบ่งเป็น 3 ปรเภทหลักๆ ได้แก่
1. เบียร์ที่ใช้ยีสต์หมักลอยผิว (top-fermenting yeast) คือ เชื้อยีสต์ที่จะลอยตัวอยู่ที่ผิวหน้าของเบียร์เมื่อเสร็จสิ้นการหมัก เบียร์ที่ได้จากการหมักโดยใช้ยีสต์ประเภทนี้ได้แก่ วีทเบียร์ (Wheat beer), ไวท์เบียร์ (White beer), อัลท์เบียร์ (Alt beer), เคิลช์ (Koelsch), เอล (Ale), พอร์ทเทอร์ (Porter) และสเตาท์ (Stout)
2. ใช้ยีสต์หมักนอนก้น (bottom-fermenting yeast) คือ เชื้อยีสต์ที่จะจมอยู่ที่ก้นภาชนะเมื่อเสร็จสิ้นการหมัก เบียร์ในกลุ่มนี้จะได้แก่พวกลาเกอร์เบียร์ (Lager beer), พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen beer), เบียร์ดำ (dark beer), บ๊อคเบียร์ (Bock beer), ไอซ์เบียร์ (Ice beer), เบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ (Alcohol free beer)และ ไดเอ็ทเบียร์ (Diet beer) ซึ่งผมเองก็ดูคุ้นเคยกับเบียร์ในกลุ่มนี้มากที่สุด
3. ใช้ยีสต์ธรรมชาติ เป็นการใช้เชื้อยีสต์ตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เชื้อที่เพาะเลี้ยงขึ้นมา เช่นเบียร์ Lambic จากประเทศเบลเยี่ยม (อันนี้ไม่เคยได้ดื่มจริงๆ ใครรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไรบอกด้วย)



วันนี้ขอเท่านี้ก่อนละกัน แล้วมาอ่านตอนต่อไปนะครับ

Wednesday, March 21, 2007

Bicycle Lift??

รูปเหล่านี้ผมได้รับ forward mail มา อขากรู้เหมือนกันว่ามันที่ไหน แต่อยากปรบมือให้เจ้าของความคิดนี้จริงๆเลยนะครับ ใครรู้รายละเอียดช่วยเพิ่มเติมด้วย





สวม 10 วิญญาณเพื่องานออกแบบ (จบ)

ก็มาถึงตอนสุดท้ายแล้วนะครับ สำหรับ "สวม 10 วิญญาณเพื่องานออกแบบ" ซึ่งจะเป็นเรื่องลักษณะของผู้ปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา 2 กลุ่มของลักษณะ จะเป็นวิญญาณของนักคิด การกำกับและวางแผน แต่อีก 4 วิญญาณที่เหลือนั้น Tom Kelly ได้นำเสนอลักษณะของนักปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า

3 The Building Personas หรือ”นักก่อสร้าง”

ที่ลงมือเพื่อให้นวัตกรรมนั้น เกิดเป็นจริงได้ ใช้ข้อมูลจากที่”นักเรียน”ได้แสวงหามา และปฏิบัติตามแผนการณ์ที่”นักจัดการ”ได้วางไว้ ซึ่งรายละเอียดของวิญญาณที่มีในกลุ่มลักษณะนี้ ได้แก่

The Experience Architect สถาปนิกผู้คร่ำหวอด

คือวิญญาณของผู้ที่ดึงเอาประสบการณ์ส่วนตัวออกมาใช้ช่วยเหลือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม หรือที่เราๆจะเรียกว่า"ความเก๋า" นั่นเอง คนกลุ่มนี้สร้างความแตกต่างในการทำงานได้ สามารถพลิกสถาณการณ์ที่ดูตีบตัน ให้มีทางออกได้อย่างคาดไม่ถึง และที่สำคัญคือสามารถใช้โอกาสหรือเวลาที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้งานบรรลุผลสำเร็จได้

The Set Designer นักออกแบบฉาก

เป็นคนที่จะวางแผนกรอบการทำงานวันต่อวันอย่างสร้างสรรค์ เหมือนนักออกแบบฉาก ที่สร้างพื้นที่ให้นักแสดงได้วาดลวดลาย แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามโอกาสหรือปัญหาต่างๆที่เข้ามา แต่ก็รักษาแผนและภาพรวมของงานไม่ให้ผิดเพี้ยนไป

The Storyteller นักเล่านิทาน

ไม่ได้เป็นคนเล่าเรื่องเลื่อนลอยแต่อย่างใด แต่เป็นผู้คอยเก็บเอาแนวคิดและความสร้างสรรค์ที่พรั่งพรูออกมาของทีมงาน รวบรวมและเรียบเรียงให้ได้ใจความ ไม่ว่าจะใช้สื่อใดๆ ทั้งข้อความ ภาพ หนัง animation ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจของคนทั้งหลายให้ตรงกัน และทำให้งานก้าวหน้าต่อไปได้

The Caregiver ผู้ดูแล

คือการเข้าใจและใจความต้องการของลูกค้า เป็นผู้ที่ประสานงานที่เชื่อมโยงความต้องการจากลูกค้ามาสู่ทีมงาน และในขณะเดียวกัน ก็สามารถส่งผ่านแนวคิดและกระบวนการสร้างนวัตกรรมไปสู่ลูกค้า สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่าย ซึ่งนับได้ว่าการเป็น"ผู้ดูแล"นั้น ถือว่าเป็นงานวิญญาณที่สำคัญมากตลอดการสร้างนวัตกรรมนั้น

ทั้ง 10 วิญญาณที่ได้เล่ามานั้น ไม่ได้แปลว่าคุณต้องเป็นทุกอย่าง หรือคุณจะมีลักษณะได้แค่อย่างเดียว เราสามารถสวมวิญญาณได้หลายอย่าง แต่การรวบรวมวิญญาณทั้ง 10นั้น ได้แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานเป็นทีม เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีกว่า ให้มุมมองที่กว้างกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมหรือรวมถึงการทำงานต่างๆทั้งหลาย....

ไม่ทราบว่าแต่ละท่านคิดอย่างไรบ้าง แสดงความคิดเห็นหรือcomment มานะครับ ผมจะหาเรื่องดีๆมาฝากอีกเรื่อยๆ โปรดติดตาม

Monday, March 19, 2007

สวม 10 วิญญาณเพื่องานออกแบบ (2)

มาต่อกันกับอีกนะครับกับ "วิญญาณ"ของผู้สร้างนวัตกรรม จากตอนที่แล้วเป็นเรื่องของการหาข้อมูล ช่วงนี้จะเป็นเรื่องของการจัดการความคิด ซึ่งก็เป็นissueหนึ่งที่นักออกแบบมักจะละเลยไป มาดูกันเลยนะครับ

2 The Organizing Personas นักจัดการ
“วิญญาณ” ที่ต้องสวมอีก 3 อย่างต่อมาเป็นลักษณะของนักจัดการ ที่จะผลักดันให้กระบวนการดำเนินไปจนจบ ทั้งนี้เพราะแนวคิดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันได้ การสื่อสารและจัดการในทีมงานและองค์กรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง นวัตกรรมไม่ใช่แค่คิดได้ดี แต่ต้องทันเวลา ในระดับของการใช้ทรัพยากรและทุนที่เหมาะสมด้วย โดยบทบาทที่ Tom Kelly ได้นำเสนอไว้ ได้แก่

The Hurdler นักวิ่งข้ามรั้ว
การวิ่งข้ามรั้วเป็นสัญญลักษณ์ของความพยายามที่ไม่สิ้นสุดแม้ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่น ความใจเย็น และการมองปัญหาในด้านบวก เช่นเดียวกับนักวิ่งข้ามรั้วที่มองปัญหาไปทีละขั้นๆ ก้าวข้ามรั้วทีละรั้วและมุ่งไปหาเส้นชัยข้างหน้าอย่างคงที่ เป็นการมองเป้าหมายในระยะยาว ไม่หวั่นไหวไปกับปัญหาระยะสั้น

The Collaborator ผู้ประสาน
เมื่อมองภาพการทำงานในความเป็นจริงแล้ว หลายๆองค์กรยังคงยึดติดกับกรอบของการบริหารภายในเช่นตามสายงานเป็นต้น ผู้ประสานมีความสำคัญต่อทีมในฐานะปิดทองหลังพระที่มองเห็นความสำคัญของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ประสานเชื่อมโยงคนทำงานที่มีหลายๆลักษณะหรือหลายๆกลุ่มงาน ผสานเข้าเป็นทีมเดียวกัน ซึ่งการสื่อสารเหล่านี้จะก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ต่างๆโดยมีจุดมุ่งหมายในการผลักดันกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จ

The Director ผู้กำกับ
การทำงานเป็นกลุ่มหรือทีมงาน จำเป็นต้องมีคนที่สามารถมองเห็นภาพรวมเพื่อที่กำหนดแนวทางการทำงานที่เหมาะสมได้ ผู้กำกับจะเป็นคนที่คอยกระตุ้นให้ทีมงานแสดงพลังการทำงานอย่างเต็มที่และสร้างผลลัพธ์ที่เหนือกว่าความคาดหมายได้ โดยการมองภาพของลักษณะของงานที่มี อะไรคืองานที่ต้องทำ วางคนที่ถูกกับงาน และต้องดึงเอาความสามารถของแต่ละคนให้ออกมาใช้อย่างเต็ม

Sunday, March 18, 2007

สวม 10 วิญญาณเพื่องานออกแบบ

ขอเริ่มต้นเรื่องแรกของ Blog ด้วยวิชาการสักนิดแล้วกันนะครับ ด้วยsummary จากหนังสือที่น่าสนใจชื่อ "The Ten Faces of Innovation" โดยคุณ Tom Kelly นักวางกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของตราสินค้ามากมาย เช่น Samsung
โดยในหนังสือเล่มนี้ คุณ Tom ได้ให้ลักษณะที่ควรจะเป็น หรือที่จะขอเรียกว่า "วิญญาณ" สำหรับนักออกแบบ ในขั้นเพื่อการสร้างนวัตกรรม ซึ่งก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัวและการทำงานใน บ.IDEO ของคุณ Tom เขานะครับ ผมเองได้เจอเขาเป็นการส่วนตัวเมื่อครั้งที่เขามาบรรยายที่ TCDC และได้พบว่าคุณ Tom เป็นคนที่ไม่ซับซ้อน ง่ายๆ คิดแบบ straight forward ซึ่งสำคัญต่อการสื่อสารในองค์กรด้วยนะครับ เพราะงาน creative work หลายๆงานตกม้าตายเพราะไม่สามารถสื่อสารให้คนเข้าใจได้....

แล้วก็ขอเริ่มเนื้อหากันเลยนะครับ โดยจะแบ่งเป็นลักษณะหลัก(Personas) 3แบบ ได้แก่

1 The Learning Personas นักเรียน
ลักษณะของการเป็นนักเรียน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับช่วงเวลาของการรวบรวมข้อมูลและความรู้ต่างๆ (Knowledge) เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความคิดในวันนี้อาจหมดสมัยอย่างรวดเร็วได้แค่วันรุ่งขึ้น นักออกแบบควรเปิดรับเรื่องราวต่างๆ เพื่อการสร้างความคิด ตั้งคำถามกับโลกนี้ด้วยมุมมองที่ใหม่และไม่มีอคติ บทบาทนี้ช่วยสร้างวิสัยทัศน์ กำจัดกรอบความคิดออกไปตั้งแต่ต้น และลบความคิดที่ว่าเรา”รู้แล้ว”ออกไป โดยในการเป็นนักเรียนนี้มีลักษณะ"วิญญาณ" 3 อย่าง ได้แก่

The Anthropologist นักมนุษยวิทยา
การสำรวจวิธีต่างๆที่ผู้คนสัมผัสใช้งานกับสินค้า บริการและประสบการณ์ต่างๆ เพื่อการสร้างนวัตกรรม เป็น วิธีการทำงานของนักมนุษยวิทยา เป็นรูปแบบที่ดีต่อการสร้างวิถีทางในการแก้ปัญหาต่างๆด้วยวิธีการใหม่ๆตามแบบอย่างกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสังเกตนี้เป็นไปอย่างเปิดใจ และทำความเข้าใจกับพฤติกรรมต่างๆอย่างถ่องแท้ มองหา”รากของปัญหา” ที่ไม่มีใครมองเห็น รวมถึงมองหาแรงบันดาลใจจากที่ต่างๆ มาสร้างเป็นแนวคิดที่นำไปสู่นวัตกรรม

The Experimenter นักทดลอง
นักออกแบบในส่วนหนึ่ง คือการสร้างวิธีการเพื่อนำไปสู่จุดหมาย นั่นคือการทำให้แนวคิดบรรลุผลเป็นรูปธรรมขึ้นมา นักทดลองมองหาวิธีการต่างๆสำหรับการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและไม่จำกัดวิธีการ และเพื่อสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหา นักทดลองมักจะยินดีที่จะชักชวนคนอื่นๆให้มาร่วมในกระบวนการคิดนี้

The Cross-Pollinator นักผสมพันธุ์ไม้
จากการสร้างสรรค์จากการคัดเลือกและผสมผสานสิ่งที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันหรือไม่น่าจะเป็นไปได้ การทำงานของนักผสมพันธุ์ไม้คือการสร้างแนวคิดที่แตกต่างอย่างแท้จริงมาสู่องค์กรและถ่ายทอดให้ทุกคนได้เข้าใจได้ มีความขยันในการบันทึกสิ่งต่างๆ เข้าใจอย่างเป็นระบบ เปรียบเทียบอย่างชาญฉลาด เพื่อเลือกนำมาใช้สร้างแนวคิด

ตอนนี้ขอส่งมาแค่ 3 ก่อนนะครับ... แล้วจะต่อให้จนจบในวันสองวันนี้นะครับ